Wednesday, March 19, 2014

Chapter5: โรคประจำตัว

            ในสมัยที่ผมศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีนั้น วิชาหลักที่ผมศึกษาคือวิชาเศรษฐศาสตร์ แต่ตอนนั้นความสนใจของผมก็ไม่ได้มุ่งไปที่วิชาเศรษฐศาสตร์หรอกครับ ด้วยไม่รู้ว่าจุดมุ่งหมายของวิชาเศรษฐศาสตร์คืออะไร ในช่วงนั้นสิ่งที่ผมสนใจมากกว่าคือเรื่องเกี่ยวกับจิตวิทยาครับ และก็เป็นโอกาสดีที่ทางมหาวิทยาลัยเปิดโอกาสให้ผมสามารถลงเรียนวิชาจิตวิทยาได้ การเรียนวิชาจิตวิทยานั้นค่อนข้างที่จะต่างไปจากจิตวิทยาที่เราอ่านตามหนังสือต่างๆ พูดตรงๆเลยคือมันไม่สนุกเหมือนอ่านหนังสือสักเท่าไร และนักจิตวิทยาคนแรกที่ผมรู้จักจากการเรียนจิตวิทยาก็คือ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud)

            ที่ฟรอยด์ถูกเลือกให้มาปรากฎตัวเป็นคนแรกของวิชาจิตวิทยานั้นไม่ใช่เพราะว่าเป็นบิดาของวิชาจิตวิทยาแต่อย่างใด แต่ฟรอยด์นั้นเป็นบิดาของกลุ่มจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) โดยแนวความคิดหลักของฟรอยด์นั้นเชื่อในจิตใต้สำนึก และจิตไร้สำนึกของคน ดังนั้นขั้นตอนในการรักษาและทดลองของนักจิตวิทยากลุ่มนี้จะเกี่ยวข้องกับการสะกดจิต ส่วนตัวผมนั้นไม่ได้สนใจทางด้านจิตวิเคราะห์สักเท่าไร แต่ทฤษฎีที่ผมสนใจคือกลุ่มพฤติกรรมนิยม ซึ่งแกนนำก็คือ จอห์น บี วัตสัน

ที่มา: everythingaboutpsychology-rohitgurung.blogspot.com

          จอห์น บี วัตสัน นั้นศึกษาจิตวิทยาผ่านพฤติกรรมที่มองเห็นได้ แทนที่จะศึกษาจิตอย่างที่กลุ่มจิตวิเคราะห์ทำกัน การศึกษาด้านพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิต ภายหลังได้กลายมาเป็นจิตวิทยากระแสหลักจนมาถึงปัจจุบัน ใจความสำคัญของกลุ่มพฤติกรรมนิยมคือการศึกษาการตอบสนองของสิ่งมีชีวิตต่อเหตุการณ์แวดล้อมรอบตัว ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจถึงพฤติกรรมที่เกิดขึ้นของสิ่งมีชีวิต

          .......แล้วจิตวิทยามันมาเกี่ยวอะไรกับเรื่องของบริษัทอย่าง Sony?......

          ย้อนกันไปในตอนก่อนหน้า ยังจำกันได้มั๊ยว่าผมเคยพูดถึงวัฒนธรรมองค์กรของ Sony ที่เน้นการให้อิสระและเปิดใจกว้างกับพนักงานเพื่อหวังจะให้พนักงานมีไอเดียในการทำงานสูงสุด แต่สิ่งที่ Sony ปลูกฝังให้คนในองค์กรนั้น ได้นำไปสู่โรค NIH syndrome (Non invented here)

            โรค NIH คืออะไร? อันนี้เป็นคำถามที่สำคัญครับ โรคที่ว่านี้ถ้าจะแปลให้เข้ากับบริษัท Sony ก็คือ โรคไม่ฟังความคิดเห็นคนอื่นและการที่จะเข้าใจที่มาของโรคนี้ได้เราต้องมาคิดกันแบบ HowWhy? กันสะหน่อย อย่างที่ผมได้พูดไปถึงเรื่องจิตวิทยาว่าด้วยเรื่องของพฤติกรรม เราพอจะเดาๆกันได้ว่าเป็นไปได้ที่พฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตจะแตกต่างกันภายใต้สภาพแวดล้อมที่ต่างกัน ถ้ายังพอจำกันได้จุดเริ่มต้นความสำเร็จของ Sony คือการขายวิทยุพกพา ถึงแม้ว่าจะล้มเหลวในสองรุ่นแรกแต่เราก็พอจะพูดได้เต็มปากว่า Sony นั้นเริ่มต้นธุรกิจก็ประสบความสำเร็จเลย นั่นก็เหมือนกับว่าในวัยเด็กของ Sony นั้นเติบโตมาท่ามกลางความสำเร็จ และนั่นก็เป็นสิ่งที่ทำให้ Sony เป็นบริษัทที่มีความมั่นใจในตัวเองสูงมาก จะเห็นได้จากการที่ Sony เลือกที่จะพัฒนาสินค้าแบบไม่ตามใครและพยายามที่จะสร้างมาตรฐานอุตสาหกรรมต่างๆอย่างที่ได้เล่าให้ฟังในตอนที่แล้ว นอกจากนี้อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ Sony จำฝังใจมาจนถึงปัจจุบันก็คือการพ่ายแพ้ในสงครามระหว่าง VHS และ Betamax ซึ่งการพ่ายแพ้ในครั้งนั้นทำให้ Sony ยิ่งมุ่งมั่นมากขึ้นในการเอาชนะในสงครามครั้งต่อๆมา

          เห็นได้ชัดว่าโรคไม่ฟังความคิดเห็นของคนอื่นได้ฝังรากลึกใน Sony ตั้งแต่ช่วงต้นๆของการทำธุรกิจ และโรค NIH ยังครอบคลุมไปถึงการไม่ยอมรับสินค้าหรือมาตรฐานที่ถูกคิดค้นโดยบริษัทอื่นด้วย เห็นได้จากการต่อสู้เพื่อผลักดันให้มาตรฐานของ Sony เป็นมาตรฐานอุตสาหกรรม (และถึงแม้จะแพ้ในบางสมรภูมิ แต่ก็ยังคงไม่ยอมแพ้และใช้มาตรฐานของตัวเองเรื่อยมา เห็นได้ชัดจาก Memory stick)

          ตัวอย่างหนึ่งของโรค NIH ที่คุณผู้อ่าน HowWhy? น่าจะสนใจและพอนึกออกก็คือ การพ่ายแพ้ของ Sony ในตลาดทีวี LCD

          .......ทำไม Sony ที่เป็นจ้าวแห่งทีวีจอตู้ จนถึงทีวีจอแบน ถึงได้พ่ายแพ้ราบคาบในตลาดทีวี LCD?.......

          คุณผู้อ่านที่มีความจำดีหรือช่างสังเกตุสักหน่อยคงพอจะจำได้ว่า ในช่วงแรกๆของตลาดทีวี LCD นั้นบริษัทที่ทุ่มเทแรงกายและแรงใจเข้ามาทำตลาดทีวี LCD ก็คือ Samsung แต่ถ้าเพื่อนๆจำไม่ได้ก็ไม่เป็นไรเพราะในช่วงแรกก็ไม่ได้มีแค่ Samsung หรอกครับที่โดดเข้ามาในตลาด LCD แต่สิ่งที่ผมจะชี้ให้เห็นก็คือ Sony ไม่ใช่บริษัทกลุ่มแรกที่ตัดสินใจเข้ามาในตลาด LCD 

        ....เพราะอะไรบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Sony ถึงได้ตัดสินใจเข้ามาช้านัก?..... คำตอบก็คือโรค NIH กำเริบ

          ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาจอ LCD นั้น Sony ตัดสินใจที่จะไม่ร่วมพัฒนาจอ LCD เพราะว่าเป็นเทคโนโลยีที่ Sharp และ Matsushita คิดค้นขึ้น ซึ่ง Sony ไม่อยากที่จะพัฒนาตาม แต่ด้วยความหยิ่งของ Sony ถ้าจะไม่ทำอะไรเลยแล้วทนขายทีวีจอตู้ไปเรื่อยๆก็ดูจะเสียหน้า เลยประกาศให้ทั่วโลกรับรู้ว่าเทคโนโลยีเรื่องหน้าจอที่จะเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตไม่ใช่ LCD แต่เป็น OLED ต่างหาก Sony ก็เลยหนีไปพัฒนา OLED ซึ่งมั่นใจว่าจะเป็นจอภาพที่ทรงอิทธิพลในอนาคต แต่การที่ต้องพัฒนา OLED ตามลำพังนั้นทำให้ต้นทุนการผลิต OLED นั้นแพงกว่า LCD มาก เพราะตลาดในขณะนั้นบริษัทอื่นๆสนับสนุน LCD กันหมดทำให้การพัฒนา LCD ให้ราคาถูกลงเกิดขึ้นเร็วมาก สุดท้ายผู้บริหารของ Sony ก็ยอมรับว่าพลาดที่ไม่ตัดสินใจลงทุนตั้งแต่แรก และในที่สุดก็ตัดสินใจร่วมลงทุนสร้างโรงงานกับ Samsung ในปี 2003 ซึ่งทำให้โซนี่เริ่มต้นในตลาดนี้ช้ากว่าคู่แข่ง แต่ปัจจุบันเราเห็นกันแล้วว่าสิ่งที่ Sony พูดไว้นั้นเป็นจริง เพราะเทคโนโลยี OLED จะเข้ามาแทน LCD อย่างแน่นอน

            ถึงแม้ว่าโรค NIH จะเป็นโรคร้ายที่เกาะกิน Sony มาตลอดแต่การที่เป็นโรคดังกล่าวบางทีก็เป็นประโยชน์กับ Sony ไม่ว่าจะเป็นการผลักดัน CD ให้เป็นมาตรฐานใหม่จนนำไปสู่การผลิต Playstation ออกขาย แต่ก็มีอีกหลายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ประสบความสำเร็จ เช่น Sony เคยผลิต Tablet ขายก่อนที่ Apple จะมีความคิดเรื่อง iPad สะอีก เพียงแต่ในช่วงนั้นคนยังไม่รู้จะเอาไปทำอะไร อินเตอร์เน็ตก็ยังไม่กว้างขวางเท่าปัจจุบัน สุดท้ายก็ขายไม่ออกกันไปตามระเบียบ หรือแม้กระทั่ง Sony เคยแปลงหนังและเพลงที่ตัวเองเป็นเจ้าของ (Sony เป็นเจ้าของ Columbia picture และ Sony BMG) ให้เป็นรูปแบบดิจิตอลเพื่อให้สามารถส่งผ่านทางอินเตอร์เน็ตเพื่อเก็บไว้ในดูในคอมพิวเตอร์ได้ แต่ในยุคนั้นอินเตอร์เน็ตยังไม่ได้เป็นที่นิยมอย่างในปัจจุบัน และก็ยังไม่เร็วพอที่จะส่งข้อมูลขนาดมหาศาลอีกด้วย

          ถ้าจะให้พูดโดยสรุปสำหรับ Sony ในบทนี้ ผมนึกออกถึงประโยคหนึ่งที่กล่าวไว้ในหนังสือ Samsung VS Sony ซึ่งกล่าวถึง Sony ได้อย่างชัดเจนที่สุดว่า “ Sony เป็นบริษัทที่ติดอยู่กับอดีตที่ไม่มีประโยชน์ และอนาคตที่ยังมาไม่ถึง

อ้างอิง : Wikipedia, Samsung VS Sony (Sea-Jin Chang แปลไทยโดย ดร.วิทยา สุหฤทดำรง และพนิดา เกษมวรพงศ์กุล)

สงวนสิทธิ์การนำไปทำซ้ำ อนุญาตให้เผยแพร่ได้
19 มีนาคม 2557
Copyright (c) 2014. Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
19 March 2014

No comments:

Post a Comment