Thursday, March 13, 2014

Chapter4: กำเนิดอารยธรรม

            เมื่อตอนที่หนึ่ง เราได้พูดกันไปแล้วถึงการสูญสิ้นอารยธรรมของชนเผ่าราบานุย ในบทนี้เราก็จะมาพูดกันต่อถึงเรื่องราวที่เกี่ยวกับอารยธรรม แต่ก่อนจะไปถึงเนื้อหาก็ขออารัมภบทไปตามสไตล์ HowWhy? กันก่อนดีกว่า

            เมื่อพูดถึงอารยธรรม สิ่งแรกที่แว่บเข้ามาในความคิดของผมก็คือ สิ่งก่อสร้างที่มันดูเป็นสัญลักษณ์ต่างๆ และสิ่งก่อสร้างแรกที่ผมนึกถึงก็คือ โคลอสเซียมสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงโรม ที่ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความยิ่งใหญ่และความแข็งแกร่งของอาณาจักรโรมัน หลายคนคงเคยรู้ประวัติของสถานที่แห่งนี้กันไม่มากก็น้อย โคลอสเซียมนั้นในอดีตมีไว้ให้สำหรับเหล่านักสู้ “Gladiator” ต่อสู้กันต่อหน้าคนดูจำนวนมาก เพื่อแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของนักรบชาวโรมัน (รวมไปถึงนักโทษที่ต้องเข้ามาสู้ด้วย) และส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นความบันเทิงของผู้คนในสมัยนั้น แต่ๆๆๆนั่นมันเป็นเรื่องราวในอดีตครับ ในปัจจุบันพวกเราๆคนธรรมดาก็สามารถเข้าไปในโคลอสเซียมได้สบายๆในฐานะนักท่องเที่ยว และโคลอสเซียมมันก็ไม่ได้มีหน้าที่ไว้ใช้ประลองอะไรอีกแล้ว มันได้ผันตัวเองมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในที่สุด
ที่มา: www.famouswonders.com

          โคลอสเซียมนั้นเป็นตัวอย่างที่ดีที่ให้เราได้รำลึกถึงอารยธรรมที่ถูกสร้างขึ้นและมีความยิ่งใหญ่ และสุดท้ายก็หายไป และเราก็คงปฏิเสธไม่ได้ด้วยว่ามนุษย์เราก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบเสพอารยธรรมสะด้วยสิ และนั่นก็เป็นที่มาที่บริษัทอย่าง Sony ต้องการสร้างอารยธรรมเป็นของตัวเอง

      ผมเชื่อครับว่าสิ่งที่เพื่อนๆผู้อ่านนึกถึงก็คือ อารยธรรม Sony Walkman” แต่ Sony ไม่ได้เริ่มต้นสร้างอารยธรรมมาจาก Walkman หรอกครับ มันเริ่มมาก่อนหน้านั้นตั้งหาก หรือจะพูดให้ชัดๆก็คือ มันฝังอยู่ใน DNA ของ Sony เลยหล่ะ ถึงขั้นมีคำพูดของอดีต CEO ท่านหนึ่งของ Sony ที่กล่าวไว้ว่า การหลีกเลี่ยงไม่ให้บริษัทอื่นลอกเลียนแบบก็คือ การตั้งมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่เป็นแนวทางของตัวเองซึ่งฟังดูแล้วก็เป็นแนวคิดที่ใช้ได้เลยนะ แต่สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายหนำซ้ำมันยังกลายมาเป็นกับดักที่กลับมาทำร้ายตัว Sony เองด้วย

      เป็นสิ่งที่ดีครับที่ Sony พยายามทำให้สินค้าของตัวเองแตกต่างจากคนอื่น ทำให้คนอื่นเลียนแบบได้ยาก นอกจากนั้นมันยังเพิ่มมูลค่าของแบรนด์ได้อีกต่างหาก และนั่นก็ทำให้ Sony สามารถตั้งราคาสินค้าตัวเองในราคา Premium ได้ แต่อย่างไรก็ตามการเริ่มต้นสร้างอารยธรรมของ Sony ก็ไม่ได้สวยงามสักเท่าไร การสร้างอารยธรรมในโลกของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์นั้นไม่ง่าย เพราะนั่นหมายความว่าคุณจะต้องต่อสู้กับบริษัททั่วโลกที่พร้อมจะเข้ามาต่อสู้กับคุณ การเปิดสงคราม Format ครั้งสำคัญของ Sony (ซึ่งผมจะเล่าให้ฟังในตอนต่อๆไปว่าทำไมมันถึงสำคัญ) คือสงครามการสร้างมาตรฐานเรื่อง วีดีโอ

          ........คุณผู้อ่านยังนึกกันออกรึเปล่า ว่า วีดีโอหน้าตาเป็นยังไง?.......

          ถ้าคุณอายุอยู่ในช่วง 20 ปีขึ้นไปก็คงรู้จักวีดีโอเป็นอย่างดีนะครับ แต่อาจจะไม่รู้ว่าระบบที่เราใช้กันก็คือระบบ VHS (Video Home System) และกว่าที่จะมาเป็นตลับวีดีโอที่เราเห็นนั้น มันได้ผ่านจุดของการทำสงครามแย่งชิงความเป็นมาตรฐานกันมาดุเดือดในช่วงปลายทศวรรษ 1970 ในตอนนั้นฝ่ายที่เสนอระบบ VHS ก็คือ JVC และ Matsushita ส่วนทางฝ่าย Sony นั้นหัวเดียวกระเทียมลีบเสนอระบบ Betamax แต่คำถามที่สำคัญคือ แล้วเหตุใด Sony จึงแพ้?”

            สาเหตุที่แพ้นั้นไม่ใช่เพราะเรื่องคุณภาพครับ จริงๆแล้ว Betamax นั้นคุณภาพดีกว่า VHS แต่ที่แพ้เพราะว่าบรรดาผู้ผลิตหนัง Hollywood ชื่นชอบ VHS มากกว่า โดยให้เหตุผลว่าพวกเขายอมรับว่า Betamax นั้นดีกว่าจริง ให้คุณภาพภาพและเสียงที่ดีกว่า แต่ระบบ VHS นั้นบันทึกได้ยาวนานกว่า อย่างไรก็ตาม Sony ก็พยายามสู้เพราะเมื่อเริ่มสงครามแล้วความพ่ายแพ้ก็หมายถึงการสูญเงินลงทุนจำนวนมหาศาล แต่ในที่สุด Sony ก็ต้องยอมแพ้ในที่สุด และนี่ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติที่เลือกสิ่งที่เหมาะสมที่สุดภายใต้สภาพแวดล้อมไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด

          สุภาษิตได้กล่าวไว้ว่า ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสเสมอเพราะหลังจากความพ่ายแพ้นั้น Sony ก็กลับมาเป็นผู้ชนะได้ในสงครามหลายครั้งต่อมา ไม่ว่าจะเป็น Sony Walkman (ซึ่งเป็นอารยธรรมที่ตอนนั้นไม่มีคู่แข่ง) การพัฒนาแผ่น Floppy Disk และ การพัฒนา CD ซึ่งเป็นใบเบิกทางเข้าสู่ตลาดเกมคอนโซลและได้เป็นผู้กำหนดมาตรฐานใหม่ของวงการเกมส์สะด้วย ชัยชนะในหลายสนามรบติดต่อกันส่งผลให้ Sony มีความมั่นใจมากและทำให้บริษัทขึ้นสู่การเป็นบริษัทระดับโลกได้อย่างรวดเร็ว แต่งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา ปัญหาที่สำคัญที่สุดของการสร้างมาตรฐานก็คือ ความเข้ากันได้ของผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือการต่อสู้กันระหว่าง Memory stick และ SD card ในปัจจุบันเรารู้แล้วว่า SD card เป็นผู้ชนะ (แต่ Sony ก็ยังคงผลิต Memory stick ขายอยู่) เนื่องจากผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้ SD card ซึ่งในมุมมองของผู้บริโภคย่อมชอบสินค้าที่สามารถใช้ได้กับหลายผลิตภัณฑ์มากกว่า เช่นเดียวกันผู้ผลิตที่เป็น Third party ก็ชอบที่จะผลิตสินค้าที่ผู้บริโภคชอบเช่นกัน ดังนั้นแล้วการหมกมุ่นอยู่กับการสร้างมาตรฐานเพื่อแต่งตั้งให้เทคโนโลยีของตนเองเป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมนั้นมีต้นทุนที่สูงมากและการที่ต้องรักษามาตรฐานของตนเองเอาไว้ทำให้ Sony จำเป็นต้องเป็นผู้ผลิตเองในหลายๆ อย่าง (ต้องขยายสายการผลิตในแนวตั้งเองทั้งหมด) ซึ่งทำให้ไม่มี Economy of scale (การประหยัดจากการผลิตจำนวนมาก)

          ..... ชาว HowWhy? มาคิดกันหน่อยดีกว่าว่ามี Format ไหนบ้างที่ Sony พ่ายแพ้....

            ผมอาจจะไล่ได้ไม่ครบไม่ว่ากันนะ ^^ ที่เห็นชัดๆก็ Memory Stick ที่พัฒนามาเพื่อให้ใช้กับกล้องดิจิตอลและก็กระจายไปสู่สินค้าอื่นๆเช่น เครื่องเล่นเกมส์ เครื่องเล่นเพลง เป็นต้น ต่อมาที่นึกได้ก็น่าจะเป็นแผ่น MD ซึ่งจริงๆก็พอจะประสบความสำเร็จอยู่บ้าง แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอดเช่นเดียวกัน แต่สงครามครั้งที่สำคัญที่สุดที่ Sony ควรจะตบหัวตัวเองก็คือ การทำสงครามกับ MP3

            อย่างที่เรารู้กันว่า mp3 คือ Format ของไฟล์เพลงในรูปแบบดิจิตอลที่เป็นที่นิยมตั้งแต่เรามีเครื่องฟังเพลงดิจิตอล โดยผู้ที่นำทัพมาในครั้งนั้นก็คือ iPod จาก Apple ในตอนนั้น Sony ประกาศสงครามกับ mp3 โดยออกแผ่น MD รูปแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและใช้ไฟล์เพลง ATRAC ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของทาง Sony เองโดยทาง Sony ก็เคลมว่าเจ้าไฟล์ ATRAC เนี่ยมันสามารถเก็บเพลงได้คุณภาพดีกว่า mp3 อีกนะ แต่เพื่อนๆชาว HowWhy? คงเดาได้นะครับว่าเป็นยังไง ATRAC มันมีอยู่ในโลกนี้ด้วยหรอ? เพิ่งเคยได้ยินครั้งแรก หรือมันจะมาจากชื่อยี่ห้อผงซักฟอกหรือเปล่า ก็คงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่ามันไม่ประสบความสำเร็จขนาดไหน และนี่ก็เป็นอีกครั้งที่ทฤษฎีวิวัฒนาการทำงานให้เราเห็นชัดๆว่า ตลาดวิวัฒนาการไปสู่สิ่งที่เหมาะสมไม่ใช่วิวัฒนาการไปหาสิ่งที่ดีที่สุด
ที่มา: www.trivit.com
          สงครามครั้งล่าสุดของ Sony คือสงครามในยุดที่สามของการอ่านข้อมูลด้วยแสงเลเซอร์ ซึ่ง Blu-ray  ที่นำทีมโดย Sony และ Phillips เป็นแม่ทัพนำไปสู้กับ HD DVD ที่นำทีมโดย Toshiba และมีผู้สนับสนุนเช่น Microsoft และ Intel แต่สงครามก็จบในปี 2008 โดยผู้ผลิตส่วนใหญ่ตัดสินใจสนับสนุน Blu-ray และ Toshiba ประกาศเลิกพัฒนา HD DVD แต่กว่าที่ Sony จะชนะได้นั้นก็ไม่ง่ายนัก โดยการจู่โจมที่สำคัญของ Sony คือการตัดสินใจใส่ Blu-ray ลงในไปเครื่องเล่นเกมส์รุ่นใหม่ล่าสุดในยุคนั้นของพวกเขาคือ Playstation 3 แต่ในยุคแรกของการผลิตนั้นต้นทุนของทาง Sony สูงมากและนั่นก็เป็นสาเหตุให้ราคาเครื่อง PS3 นั้นสูงมากเมื่อเทียบกับเครื่องเกมส์ในยุคก่อนๆ (ถึงแม้ว่าราคาจะสูงมากแต่ Sony ก็ยังคงขาดทุนกับการขายเครื่องเกมส์ในรุ่นแรก เพื่อยอมให้ Blu-ray เป็นผู้ชนะในสงคราม)

            ที่จริงแล้วเรื่องราวของสงคราม Format ยังไม่จบเพียงเท่านี้ ยังมีมุมมองด้านอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้อยู่อีก ไม่ว่าจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ Sony หมกมุ่นอยู่กับการสร้างมาตรฐานอุตสาหกรรม ปัจจัยที่ทำให้ Sony พ่ายแพ้ในสงคราม ซึ่งรอคอยเพื่อนๆผู่อ่านชาว HowWhy? อยู่ในตอนต่อไป



 อ้างอิง : Wikipedia, Samsung VS Sony (Sea-Jin Chang แปลไทยโดย ดร.วิทยา สุหฤทดำรง และพนิดา เกษมวรพงศ์กุล)

สงวนสิทธิ์การนำไปทำซ้ำ อนุญาตให้เผยแพร่ได้
13 มีนาคม 2557
Copyright (c) 2014. Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
13 March 2014

1 comment:

  1. Gambling on the Web: What you need to know - JDKHAR
    You'll need 공주 출장안마 to visit the web site, visit the homepage, 안산 출장마사지 check the sportsbook, visit 삼척 출장안마 the app, visit the 나주 출장마사지 website, click the search bar, 아산 출장마사지 enter your mobile ID

    ReplyDelete