Saturday, March 1, 2014

Chapter3: สู่ความเป็นที่หนึ่ง

        วัยรุ่นเป็นวัยที่ชอบลองทำสิ่งใหม่ๆ และชอบค้นหาตัวตนว่าชอบอะไร โดยลองทำสิ่งต่างๆมากมาย และหนึ่งในนั้นก็คือดนตรีครับ ผมจำได้ว่าเริ่มฟังเพลงอย่างจริงๆจังๆก็ตอนเข้าสู่มัธยมปลาย (หลายคนคงคิดว่าไปอยู่ที่ไหนมา คนส่วนใหญ่เค้าก็เริ่มฟังกันตั้งแต่ประถม หรือ ม.ต้นกันทั้งนั้นแหละ -_-“) ในยุคที่ผมเริ่มฟังเพลงนั้น ถือว่าเริ่มเข้าสู่ยุค Digital แล้วเพราะอัลบั้มแรกที่ผมซื้อมาฟังก็ถูกอัดลงแผ่น CD แทนที่จะเป็นตลับเทปอย่างที่ตอนเด็กๆเคยเห็น เหตุการณ์ในวันนั้นยังคงติดอยู่ในความทรงจำครับ  ณ บ่ายวันอาทิตย์ที่ห้างคาร์ฟูร์ พระราม 4 (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นบิ๊กซีแล้ว) ระหว่างที่กำลังจะจ่ายเงินเพื่อซื้อของนั้น พลันสายตาก็มองไปเห็นแผ่น CD เพลงที่เรียงรายกันอยู่หน้าเคาน์เตอร์จ่ายเงิน และแผ่น CD แผ่นแรกที่ผมหยิบขึ้นมาก็คืออัลบั้มของวงร็อคที่ ณ ปัจจุบันได้เป็นสุดยอดวงร็อคของเมืองไทยนั่นคือ “Bodyslam”


            หลังจากได้แผ่นเพลงแล้ว ก็รีบกลับบ้านเพื่อที่จะใส่แผ่นเข้าไปฟังกับเครื่องเล่น CD พกพาที่มีอยู่ที่บ้าน เครื่องเล่นเพลงที่ผมมีอยู่ก็เป็นเครื่องเล่นที่ได้มาจากการแลกแต้มบัตรเครดิตครับก็ไม่ได้มียี่ห้ออะไร ความรู้สึกในตอนนั้นที่ได้มีเครื่องเล่น CD ซึ่งสามารถถือไปไหนมาไหนก็ได้ พร้อมกับได้ฟังเพลงผ่านหูฟังส่วนตัว ทำให้มีความรู้สึกหนึ่งเกิดขึ้นที่เราเรียกกันว่า บ้าเห่อจริงครับช่วงนั้นบ้าเห่อมากๆ ส่วนนึงก็รู้สึกว่ามันเท่ เดินไปถือเครื่องไปฟังเพลงไป แหม่อะไรจะสุขใจปานนั้น ^_^ แต่แล้วเมื่อฟังไปก็เริ่มพบปัญหาของเครื่องเล่นที่ผมมีอยู่นั่นก็คือ มันไม่มีระบบป้องกันการสั่นสะเทือนครับ ฟังไปกระตุกไปบ้าง ต้องพยายามอยู่นิ่งๆเพื่อให้เสียงกลับมาใหม่ และสุดท้ายเลยก็คือต้องฟังอยู่บ้านครับถือไปไหนมาไหนไม่ได้ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ผมเริ่มศึกษาถึงเครื่องเล่น CD และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นกับการรู้จัก “Sony Walkman”

ที่มา: Wikipedia

            Sony Walkman นั้นถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสินค้าที่ปฏิวัติวิถีการใช้ชีวิต การฟังเพลงของผู้คนบนโลกนี้ และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากของทาง Sony อย่างไรก็ตาม Walkman ไม่ใช่เพียงสินค้าเดียวที่ส่งให้ Sony ขึ้นเป็นบริษัทระดับโลกที่ครองใจคนจำนวนมากหรอกนะครับ

...เพื่อนๆชาว HowWhy? ลองมาคิดไปพร้อมๆกันดีกว่าว่ามีผลิตภัณฑ์ไหนบ้างที่อยู่ในความทรงจำของพวกเรา...

เมื่อตอนที่แล้วเราพูดกันถึงจุดเริ่มต้นของชื่อเสียงของ Sony ว่ามาจากการผลิตวิทยุพกพาขาย ทีนี้เรามาลองดู Timeline ของ Sony กันดีกว่าว่าเส้นทางการเดินทางของ Sony เป็นอย่างไรบ้าง

         หลังจากที่ประสบความสำเร็จกับการผลิตวิทยุพกพาได้ไม่นานนัก Sony ก็ประสบความสำเร็จในการคิดค้นหน้าจอทีวีที่ทาง Sony เรียกว่า Trinitron ถามว่าทีวีนี้ดีอย่างไร? ให้คุณลองไปถามคนที่มีอายุประมาณ 45 ขึ้นไปว่าในยุคของทีวีจอตู้นั้น ทีวียี่ห้อไหนที่มีคุณภาพดีที่สุด ให้ภาพสวยที่สุด ผมพนันได้เลยครับว่าเกิน 80% จะบอกคุณว่าทีวี Sony สาเหตุนั่นก็เพราะเทคโนโลยี Trinitron ที่ Sony เป็นผู้ครอบครองและถือลิขสิทธิ์นั่นเอง เทคโนโลยีที่ว่านี้ทำให้ภาพที่ได้จากทีวี Sony นั้นมีความคมชัดกว่ายี่ห้ออื่นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งนั่นก็ทำให้ Sony โกยกำไรอย่างมากมายจากธุรกิจทีวี และส่งให้ Sony ขึ้นไปอยู่ในแนวหน้าของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ของโลก

          ผลิตภัณฑ์ชิ้นต่อมาที่สร้างชื่อเสียงให้กับ Sony เกิดขึ้นจากคำบ่นของอิบุกะผู้ร่วมก่อตั้ง Sony โดย อิบุกะ ได้บ่นถึงเรื่องการเดินทางไปทำธุรกิจในอเมริกา เมื่อโมริตะ ได้ยินเช่นนี้จึงสั่งให้วิศวกรไปเอาวงจรบันทึกเสียงและลำโพงมารวมกันเพื่อสร้างเครื่องเล่นพกพาขนาดเบา และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของ Walkman สิ่งที่ Walkman นำเสนอออกสู่ตลาดคือการที่ผู้คนสามารถฟังเพลงที่ตนเองชอบได้ในทุกที่ทุกเวลา ซึ่งในสมัยนั้นผู้คนยังไม่เคยนึกมาก่อนเลยว่าจะสามารถบันทึกเพลงที่ตัวเองชอบและสามารถพกพามันไปฟังได้ทุกที่ และนั่นก็เป็นอีกก้าวที่ทำให้ Sony มีชื่อเสียงระดับโลกในเรื่องของภาพและเสียง

ที่มา: www.pushsquare.com

        ผลิตภัณฑ์อีกตัวหนึ่งที่เราจะพูดกันในบทนี้ และเป็นผลิตภัณฑ์ที่พา Sony ขึ้นสู่จุดสูงสุดของความเป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าเพื่อความบันเทิงนั่นก็คือ เครื่องเล่นเกมส์ Playstation ในยุคนั้นคงไม่มีใครปฏิเสธว่า ผู้นำในวงการเครื่องเกมส์ของโลกคือ Nintendo โดยมีทั้งเครื่องเล่นเกมพกพาอย่าง Gameboy และเครื่องเกมส์ Super Famicom ที่ต้องต่อเล่นกับทีวี และในตอนนั้นสิ่งที่ทำให้ Sony กล้าเข้ามาในตลาดเกมส์ก็คือ ความชอบเล่นเกมส์ของผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งของ Sony แต่เพียงแค่ความชอบคงไม่สามารถออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เปลี่ยนโลกได้ถ้าไม่มีนวัตกรรมใหม่ๆ  ณ เวลานั้นเป็นเวลาเดียวกับที่ Sony สามารถผลักดัน CD ให้เป็นมาตรฐานใหม่ของการเก็บข้อมูลทาง Digital และในตอนแรกนั้น Sony ก็ได้เชื้อเชิญทาง Nintendo ให้มาร่วมกันผลิตเครื่องเกมส์ที่ใช้แผ่น CD แทนการใช้ตลับเกมส์ แต่ทาง Nintendo ปฏิเสธการเข้าร่วม แต่ Sony ก็ไม่เลิกความตั้งใจและยังคงเดินหน้าผลิตเครื่อง Playstation ออกสู่ตลาด และถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงเกินกว่าที่ทาง Sony ได้คาดคิดไว้อย่างมาก

         ...HowWhy? แล้ว Sony ประสบความสำเร็จเหนือ Nintendo ที่มีประสบการณ์มากกว่าได้อย่างไร

           สิ่งที่สำคัญไม่ใช่เพียงแค่ภาพที่สวยกว่า แต่มาจากการเปลี่ยนมาใช้แผ่น CD ในการบรรจุเกมส์นั่นเอง  การใช้แผ่น CD นั้นได้เปรียบกว่าตลับเกมส์ เนื่องจาก ต้นทุนการผลิตแผ่น CD ต่ำกว่าตลับเกมส์มาก และระยะเวลาที่ใช้ในการผลิตเกมส์แต่ละเกมส์ลงแผ่น CD นั้นใช้เวลาน้อยกว่าตลับเกมส์มากๆ ดังนั้นการตั้งราคาเกมส์จึงสามารถตั้งได้ถูกกว่า และไม่จำเป็นต้องเก็บเป็นสินค้าคงคลังมาก เนื่องจากสามารถผลิตได้อย่างรวดเร็ว และนั่นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ Playstation สามารถแย่งชิงพื้นที่สำคัญจาก Nintendo ได้

      เชื่อว่าหลายๆคนคงมีประสบการณ์ดีๆ กับสินค้าทั้งสามอย่างที่ผมได้พูดถึงข้างต้น บางคนอาจจะเคยเป็นเจ้าของสินค้าทั้งสามอย่าง หรือบางคนอาจจะเคยตั้งใจเก็บเงินเพื่อซื้อสินค้าเหล่านั้น แต่แต่แต่แต่แต่ ที่ต้องใช้หลายแต่ก็เพราะว่า ถ้าเราลองไปถามเด็กรุ่นใหม่ถึงสินค้าที่เราพูดถึงข้างต้นไม่ว่าจะเป็น ทีวี  Walkman หรือ Playstation ผมเชื่อว่ามีไม่น้อยเลยที่อาจจะไม่รู้จัก หรือรู้จักก็ไม่ได้คิดที่จะซื้อมาใช้ แล้วมันเกิดอะไรขึ้น? เมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว เรายังคงอยากเป็นเจ้าของ Sony Wega สุดยอดทีวีจอแบนที่โฆษณาว่าภาพสมจริงราวกับเป็นหน้าต่างบ้าน เรายังทึ่งกับความคงทน และความล้ำสมัยของ Walkman  เรายังเล่นเกมส์สุดฮิตอย่าง Bio Hazard, Winning Eleven และ Dokapong แต่เมื่อเวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบันสินค้าเหล่านี้แทบจะไม่เหลือที่ยืนในตลาด (อย่างน้อย Playstation ก็ยังคงครองความยิ่งใหญ่ในตลาดเกมส์ได้ ซึ่งเราจะมาคุยกันอีกครั้ง) สาเหตุคืออะไร? ทำไมบริษัทที่ยิ่งใหญ่อย่าง Sony จึงไม่สามารถรักษาความยิ่งใหญ่ให้คงอยู่ คงต้องติดตามกันต่อใน HowWhy? ตอนต่อไปครับ 

 อ้างอิง : Wikipedia, Samsung VS Sony (Sea-Jin Chang แปลไทยโดย ดร.วิทยา สุหฤทดำรง และพนิดา เกษมวรพงศ์กุล)

สงวนสิทธิ์การนำไปทำซ้ำ อนุญาตให้เผยแพร่ได้
1 มีนาคม 2557
Copyright (c) 2014. Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
1 March 2014

No comments:

Post a Comment