Monday, February 24, 2014

Chapter2: ผู้ก่อตั้ง

      บ่ายวันนึงกลางกรุงโตเกียวเมื่อราว 50ปีที่แล้ว เหล่าคุณภรรยาที่น่ารักชาวญี่ปุ่นกำลังทำความสะอาดบ้านเพื่อต้อนรับสามีที่ออกไปทำงานหาเงินนอกบ้าน แสงแดดที่สาดส่องเข้ามาภายในบ้านชวนให้นึกถึงกลิ่นอ่อนๆของดอกหญ้า เสียงของจิ้งหรีดตัวเล็กๆคละเคล้าไปกับเสียงจากเครื่องรับสัญญาณวิทยุยี่ห้อ Sony ที่กำลังเล่าเรื่องราวบทละครเรื่องหนึ่ง เสียงจากวิทยุที่ลอยมาตามลมนั้นก็พอจะสร้างรอยยิ้มเล็กๆจากมุมปากของเหล่าแม่บ้าน เมื่อโกโบริบอกรักอังศุมาลิน “あなたを あいしています .”  

อันที่จริงแล้วทาง Sony ก็ไม่ได้มาซื้อบทละครเรื่องคู่กรรมของไทยเราไปเริ่มต้นธุรกิจหรอกครับ เพียงแต่ว่าจุดเริ่มต้นความสำเร็จของ Sony กับบทละครเรื่องคู่กรรม มันมาเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกันก็เท่านั้นเอง จุดเริ่มต้นของ Sony นั้นเริ่มต้นหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่สองจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของทางญี่ปุ่น และเยอรมนี ถึงแม้ว่าสภาพเศรษฐกิจและสังคมของญี่ปุ่นตอนนั้นดูจะแย่มากๆ แต่ภายใต้วิกฤตนั้นยังมีโอกาสครับ ในปี 1946 มาซารุ อิบุกะ และ อากิโอะ โมริตะ ได้ร่วมกันก่อตั้งบริษัทขึ้น แต่ก็ไม่ได้ใช้ชื่อ Sony มาตั้งแต่แรกหรอกนะครับ กว่าจะมาเปลี่ยนชื่อเป็น Sony และเป็นที่รู้จักกันมาจนถึงปัจจุบันต้องรอจนถึงปี 1958

ที่มา: www.factsanddetails.com


ที่มาของชื่อ Sony นั้นซ่อนอยู่ในช่วง 12 ปีหลังจากก่อตั้งบริษัทนั่นแหละครับ ในช่วงแรกของการก่อตั้งนั้นบริษัทก็ผลิตสินค้าหลากหลายประเภท เช่น ตลับเทป แผ่นทำความร้อนในเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ก็แน่หล่ะอะไรที่มันทำเงินได้ก็ต้องทำไว้ก่อนให้บริษัทพอมีกำไร แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นก็ยังไม่ใช่สิ่งที่ทำให้บริษัทดังเปรี้ยงปร้างแต่อย่างใด จุดเปลี่ยนสำคัญและเรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้บริษัทมีชื่อเสียงในระดับโลกก็คือ การผลิตเครื่องรับสัญญาณวิทยุ หรือที่เราเรียกกันสั้นๆว่า วิทยุนั่นแหละครับ จริงๆแล้วทาง Sony ก็ไม่ใช่บริษัทแรกที่คิดค้นวิทยุพกพาขึ้นมาหรอกนะครับ แต่สิ่งที่ Sony ทำก็คือการไปขอซื้อสิทธิบัตรความรู้ด้านการผลิตวิทยุจากบริษัทในสหรัฐอเมริกา ซึ่งในสมัยนั้นบริษัทที่มีความรู้ด้านสัญญาณวิทยุส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การผลิตเพื่อการทหาร  แต่ Sony ไม่ได้มองเช่นนั้นครับ สิ่งที่ Sony คิดคือการผลิตเพื่อให้คนทั่วไปสามารถใช้ได้ และผลลัพธ์ก็ออกมาเกินคาด นั่นคือ Sony เป็นบริษัทแรกที่ประสบความสำเร็จในการขายวิทยุพกพาที่ใช้ได้จริงให้ประชาชนตาดำๆได้ใช้กัน

......ณ จุดนี้ ขอให้ต่อม HowWhy? ของพวกเราทำงานครับ.....
......คำถามคือ ในตอนที่ Sony ยังไม่มีชื่อเสียง บริษัททำยังไงถึงได้ประสบความสำเร็จได้.....

ที่มา: www.tabiwallah.com
ต้องบอกกันก่อนว่าที่Sonyประสบความสำเร็จกับการผลิตวิทยุพกพา ไม่ได้มาจากโชคช่วยที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทขายดี Sonyประสบความล้มเหลวถึงสองครั้งในการขายวิทยุพกพาในสองรุ่นแรก แต่สิ่งหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้เลยคือ Sonyเข้ามาในตลาดนี้ได้ถูกจังหวะเวลา ปีที่Sonyประสบความสำเร็จในการขายวิทยุของพวกเขาเกิดขึ้นในปี 1957 ซึ่งด้วยพลังของ Baby boom ทำให้ในยุคนั้นเต็มไปด้วยเด็กวัยรุ่นที่มีความสนใจในสินค้าใหม่ๆ และSonyก็ไม่พลาดที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดกลุ่มใหญ่ ในเวลานั้นถึงแม้ว่าSonyจะพลาดกับการออกวิทยุสองรุ่นแรก และในตลาดตอนนั้นก็ยังมีคู่แข่งที่ทำวิทยุพกพาขายเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นไม่ประสบผลสำเร็จรวมถึงของโซนี่เองด้วยก็เพราะ คุณภาพที่ไม่ดีบ้างและไม่สามารถพกพาได้จริงบ้าง Sonyเล็งเห็นช่องว่างตรงนี้จึงได้ระดมนักวิจัยในบริษัทให้ลดขนาดวิทยุรุ่นที่สามที่กำลังจะออกวางขาย และSonyก็ทำได้จริงโดยที่ขนาดของวิทยุรุ่นใหม่นี้เล็กลงกว่าวิทยุทั้งหมดที่มีในตลาด นอกจากนั้นยังได้ออกโฆษณาว่าวิทยุรุ่นใหม่นี้สามารถที่จะพกพาไว้ในกระเป๋าเสื้อได้อย่างสบายๆ (จริงๆแล้วกระเป๋าเสื้อในโฆษณาที่Sonyสร้างขึ้น มีขนาดที่ใหญ่กว่ากระเป๋าเสื้อธรรมดาอย่างเห็นได้ชัด) แต่นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่สวยงามของ Sony ที่ทำให้โลกได้รู้จักว่า  Made in Japan เท่ากับคุณภาพที่ดี และภาพลักษณ์ของ Sony คือเป็นบริษัทที่นำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ

ความสำเร็จในการเผยแพร่วิทยุพกพานี่เองเป็นสาเหตุให้ชื่อ “Sony” ถูกนำมาใช้เป็นชื่อบริษัทในปี 1958 โดยประยุกต์คำว่า Sonus ในภาษาละตินที่แปลว่าเสียงกับคำว่า Sonny ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกเด็กหนุ่มในสมัยนั้น จึงเกิดขึ้นเป็นคำว่า Sony และการที่ใช้ชื่อบริษัทเป็นภาษาอังกฤษนั้นทำให้ชื่อของบริษัทไม่เป็นปัญหาในการออกเสียงของคนทั่วโลก

สิ่งหนึ่งที่สำคัญในการที่ทำให้ Sony สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นผู้นำในตลาดในขณะนั้นได้ก็เนื่องมาจากวิสัยทัศน์ที่สำคัญของผู้ก่อตั้งที่ได้กล่าวไว้ว่า เราไม่สามารถเอาชนะบริษัทใหญ่ได้โดยการลอกเลียนแบบสิ่งที่เขาทำ เพราะฉะนั้นแล้วหลักพื้นฐานของโซนี่คือการให้อิสระและการเปิดใจกว้างแก่พนักงานซึ่งคำพูดนี้เปรียบได้กับประกาศิต และได้กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรของ Sony แต่อิบุกะและโมริตะ ก็คงไม่คิดว่าประกาศิตดังกล่าวจะกลายมาเป็น สิ่งที่ลิขิตความเป็นไปของ Sony อย่างที่เราจะกลับมาติดตามกันใน HowWhy? ตอนต่อไป

อ้างอิง : Wikipedia, Samsung VS Sony (Sea-Jin Chang แปลไทยโดย ดร.วิทยา สุหฤทดำรง และพนิดา เกษมวรพงศ์กุล)

สงวนสิทธิ์การนำไปทำซ้ำ อนุญาตให้เผยแพร่ได้
25 กุมภาพันธ์ 2557
Copyright (c) 2014. Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.

25 February 2014

No comments:

Post a Comment