Saturday, February 22, 2014

Chapter1 : เมื่ออารยธรรมสูญสิ้น

     “นักเรียนตรง ทำความเคารพ
     “สวัสดีครับคุณครู.......ขอบคุณครับคุณครู
    เสียงที่คุ้นเคยจากหัวหน้าห้องตะโกนดังๆตอนคุณครูเดินเข้ามาในห้องเรียนและก่อนออกจากห้องเรียน เสียงนี้จะวนเวียนเข้ามาในโสตประสาทของผมวันนึงสัก 10 รอบได้  ย้อนกลับไปเมื่อยุคที่โลกเรากำลังกระวนกระวายเข้าสู่ยุค Y2K ชีวิตของเด็กมัธยมต้นอย่างผม และเพื่อนๆพี่ๆที่ผ่านช่วงเวลานั้นมา รวมถึงน้องๆที่อาจจะกำลังเรียนอยู่ คงจำกันได้ว่าวันๆนึงเราต้องเรียนกันหลากหลายวิชา ไม่ว่าจะเป็น เลข ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ สังคม สำหรับผมแล้วก็ไม่รู้หรอกว่าแต่ละวิชาเนี่ยเราจะเรียนกันไปทำไม หนึ่งในวิชาที่ถือได้ว่าน่าเบื่อก็คือวิชาสังคม หรือที่ในสมัยนั้นที่โรงเรียนเรียกกันว่า สปช.สังคม และส่วนที่น่าเบื่อสุดๆของวิชาสังคมก็คือการต้องมาท่องจำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของประเทศ ของเพื่อนบ้าน ของโลก (ส่วนวิชาวิทยาศาสตร์ก็พาพวกเราออกไปถึงจักรวาลเลย -_-) ตอนนั้นก็ไม่รู้หรอกครับว่าจะรู้มันไปทำไม สนใจแต่ว่า อืม..ท่องๆไปสอบให้ผ่านๆไป แต่ก็ยังมีส่วนที่จำได้เช่น ต้นกำเนิดของคนไทยอพยพมาจากทางเหนือ เราเคยมีสานสัมพันธ์กับอารยธรรมต่างๆ เช่น โยนก ซึ่งปัจจุบันผมก็ไม่รู้ว่าอารยธรรมโยนกได้เปลี่ยนไปเป็นอะไร และยังมีอยู่หรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่พึ่งมากระตุกต่อม HowWhy? ของผมก็คือการที่ได้ดูสารคดีที่เกี่ยวกับหมู่เกาะในทะเลแปซิฟิกครับ หมู่เกาะที่ว่านั้นชื่อว่า เกาะอีสเตอร์ เกาะที่ว่านี้มีอะไรดี?



ส่วนที่น่าสนใจนั้นก็เกี่ยวกับอารยธรรมของชาวเกาะอีสเตอร์นั่นแหละครับ แต่ก่อนที่จะไปถึงเรื่องของเกาะอีสเตอร์นั้นขอแทรกด้วยการทำความเข้าใจกับคำว่าอารยธรรมกันสักหน่อยดีกว่า เพื่อไม่ให้มันกลายเป็นวิชาสังคมน่าเบื่อๆ ผมจะพูดแต่สิ่งที่เราเห็นกันชัดๆในชีวิตประจำวัน นั่นก็คืออารยธรรมนั้นแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา และส่วนที่เป็นการกระทำหรือที่เราเรียกกันว่าวัฒนธรรม อย่างเช่น บ้านทรงไทย ก็เป็นอารยธรรมทางสิ่งก่อสร้าง และการไหว้ก็เป็นอารยธรรมทางการกระทำของประเทศไทย หรือถ้ามองไปที่ญี่ปุ่นดาบซามูไรก็นับได้ว่าเป็นอารยธรรมทางสิ่งของ และการกล่าวขอบคุณหลังรับประทานอาหารก็นับว่าเป็นวัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่น......จบบทเรียนเรื่องอารยธรรม กลับมาที่เรื่องชาวอีสเตอร์ต่อดีกว่า ว่ากันว่าเกาะอีสเตอร์นั้นในสมัยก่อนเป็นเกาะที่ไม่สามารถเดินทางไปได้โดยง่าย ด้วยระยะทางที่ไกลและความสามารถในการเดินทะเลของคนสมัยก่อนยังมีไม่มากนัก แต่แล้ววันนึงก็มีกลุ่มคนที่สามารถเดินทางไปอาศัยที่เกาะเหล่านั้น ซึ่งผู้บรรยายในสารคดีก็บอกกับผมว่าผู้คนเหล่านั้นมีชื่อเรียกว่า ชนเผ่าราปานุยสิ่งที่น่าสนใจของชนเผ่าราปานุยก็คือ อารยธรรมที่พวกเขาสร้างไว้และมันก็ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน นั่นก็คือหินสลักรูปร่างเหมือนคนที่กระจายกันเรียงรายอยู่ทั่วเกาะ 
 
Source: Wikipedia
            แต่แล้วจุดเริ่มต้นของความล่มสลายของชาวเผ่าราปานุยก็เกิดจากอารยธรรมที่พวกเขาชื่นชมนั่นแหละครับ เชื่อกันว่าตอนแรกนั้นบนเกาะอีสเตอร์นั้นอุดมไปด้วยพืชพันธุ์และสัตว์หลากหลายชนิด แต่เมื่อชาวราปานุยมีมากเข้าและได้แบ่งแยกพื้นที่กันปกครอง สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือการแข่งขันกันสร้างรูปปั้นแกะสลักหิน ซึ่งการที่จะขนย้ายหินขนาดมหึมานั้นได้ต้องใช้ไม้จำนวนมากในการช่วยขนย้ายครับ และนั่นนำไปสู่การเริ่มต้นทำลายระบบนิเวศน์ในเกาะ

......มาถึงจุดนี้แล้ว เพื่อนๆลองจินตนาการครับว่าเมื่อระบบนิเวศน์ถูกทำลายแล้วอะไรจะเกิดขึ้น......

ครับ....ปัญหาที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือ อาหารการกินที่นับวันจะมีจำนวนที่น้อยลง สัตว์ป่าต่างๆก็เริ่มจะไม่สามารถที่จะมีชีวิตอยู่ได้  การที่ปริมาณอาหารลดลงนั้นได้เป็นชนวนให้เกิดการต่อสู้เพื่อแย่งชิงทั้งพื้นที่ทำกิน และรวมไปถึงการฆ่าเพื่อนร่วมชนเผ่าตนเองเพื่อลดจำนวนคนที่จะมาแย่งอาหาร และท้ายที่สุดก็เป็นอย่างที่เรารู้กันครับ เหลือเพียงรูปปั้นหินที่พวกเขาได้สร้างไว้กระจายอยู่ทั่วเกาะให้เราได้รู้กันว่าชนเผ่าราปานุยได้มายึดครองและสร้างอารยธรรมของพวกเขาไว้บนเกาะอีสเตอร์ในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ

ว่ากันไปยาวถึงกลางทะเลแปซิฟิกกับสิ่งที่มากระตุกต่อม HowWhy? ของผม เรากลับมาที่ กรุงเทพ ประเทศไทยกันดีกว่าว่า แล้วการสูญสิ้นของอารยธรรมของชนเผ่าราบานุยมันจะนำไปสู่เรื่องที่ผมจะเล่าต่อไปอย่างไร หลังจากที่ฟังเรื่องราวของชาวราปานุยแล้ว ผมขอให้เรามาลองจินตนาการกันอีกสักรอบครับ ครั้งนี้ให้ทุกคนลองคิดกันว่าวันดีคืนดีวัฒนธรรมที่พวกเราสืบทอดกันมาอย่างยาวนานอย่าง การไหว้ได้หายไปจากประเทศไทย คุณไม่จำเป็นต้องไหว้ญาติผู้ใหญ่ ไม่ต้องไหว้คุณครู ไม่ต้องไหว้หัวหน้าในที่ทำงาน รวมถึงไม่ต้องไหว้พ่อและแม่ของคุณด้วย โดยที่วัฒนธรรมการไหว้ที่หายไปนั้นอาจจะโดนกลืนกินด้วยวัฒนธรรมอื่นเช่นการจับมือทักทายกัน หรือหายไปเฉยๆก็ได้ เพื่อนๆลองคิดดูครับว่ามีโอกาสมากน้อยเพียงใด และต้องใช้เวลากันนานสักเท่าไรที่วัฒนธรรมหนึ่งๆจะหายไปได้ เช่นเดียวกับอารยธรรมครับ การที่อารยธรรมใดอารยธรรมหนึ่งจะหายไปนั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นไปไม่ได้ครับหากเรารู้ถึงเหตุและปัจจัยอย่างที่เราได้ไปแวะชมชนเผ่าราบานุยกันมาเมื่อสองนาทีที่แล้ว

การเริ่มต้น ความแข็งแกร่ง ความอ่อนแอ และการสูญสิ้นของอารยธรรมนั้น ได้กระตุ้นให้ต่อม HowWhy? ของผมเชื่อมโยงเรื่องราวไปสู่อารยธรรมอีกอย่างหนึ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาที่เพื่อนๆจะต้องเคยได้ยินและเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัวเลย นั่นก็คือ อารยธรรม Sony” และผมเชื่ออย่างมากว่าหลายๆคนคงจะเคยได้สัมผัสอารยธรรมนี้จากผลิตภัณฑ์ที่ปฏิวัติวงการการฟังเพลงอย่าง Sony Walkman ......... เรื่องราวของอารยธรรม Sony ไม่ว่าจะเป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคตมันจะเป็นอย่างไร ก็ติดตามกันต่อใน HowWhy? ตอนต่อไปนะครับ

อ้างอิง : Wikipedia, BBC Earth – South Pacific 2010

สงวนสิทธิ์การนำไปทำซ้ำ อนุญาตให้เผยแพร่ได้
22 กุมภาพันธ์ 2557
Copyright (c) 2014. Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.

22 February 2014

No comments:

Post a Comment