Wednesday, April 23, 2014

ทำไมซอยเลขคู่กับซอยเลขคี่ถึงอยู่คนละฝั่ง?

            การขับรถในกรุงเทพฯนั้น หลายคนก็คงรู้ดีว่ามีรถมากมายขนาดไหนยิ่งเวลาเร่งด่วนอย่างตอนเช้าและตอนเย็นด้วยแล้ว รถจะเยอะจนแทบจะขยับไปไหนไม่ได้ หนึ่งในวิธีที่ชาวกรุงเทพฯใช้เพื่อหลบเลี่ยงการวิ่งเข้าสู่ถนนเส้นหลักก็คือ การวิ่งในซอยต่างๆลัดไปก็ลัดมา ผมว่าเพื่อนๆก็คงเคยใช้วิธีนี้นะครับ หรือไม่บางทีรถแท็กซี่หรือสามล้อก็ชอบที่จะพาคุณซอกแซกไปตามซอยต่าง พลางให้เราคิดไปว่า มันจะพาเราไปขายหรือเปล่า?”

           วันนี้ผมก็จะหยิบยกเรื่องที่เกี่ยวกับซอยมาเล่าให้เพื่อนๆชาว HowWhy? ฟังกัน เพื่อนๆเคยสังเกตุกันมั๊ยครับว่ากรุงเทพฯเมืองฟ้าอมรของเราเนี่ยมีซอยเยอะมาก สาเหตุหลักๆก็มาจากการที่เราไม่ได้วางผังเมืองกันมาตั้งแต่แรกๆ แต่ก็ไม่เป็นไรชาวกรุงเทพฯก็คงอยู่กันจนชินแล้ว ส่วนหลักการในการตั้งชื่อซอยนั้นโดยปกติก็จะตั้งชื่อซอยเป็นชื่อเดียวกับถนนแล้วนับเลขต่อกันไปเรื่อยๆ เช่น สุขุมวิทซอย1 พหลโยธิน3 ลาดพร้าว71 เป็นต้น (แต่ก็มีซอยอีกประเภทที่ไม่ได้ตั้งตามชื่อถนนแต่ใช้วิธีการตั้งชื่อซอยแทน) แต่สิ่งที่มากระตุกต่อม HowWhy? ของผมก็คือแล้วทำไมถึงต้องจัดให้ซอยเลขคู่อยู่ฝั่งเดียวกัน แล้วก็จัดให้ซอยเลขคี่ไปอยู่อีกฝั่งหนึ่งของถนน แทนที่จะเรียงซอยไปเรื่อยๆตามการนับเลข
ที่มา: www.pantip.com

          คำตอบที่พี่คนขับแท็กซี่ผู้รอบรู้ท่านหนึ่งบอกมาก็คือว่า ซอยเลขคู่คือฝั่งถนนขาเข้า และซอยเลขคี่คือถนนขาออกแว่บแรกที่ผมได้ยินก็ไม่เชื่อครับ แต่พอมาลองนึกๆดูหลายๆถนนก็เป็นอย่างที่พี่แท็กซี่บอกจริงๆ มาถึงจุดนี้บางคนอาจจะยังงงอยู่ว่าแล้วถนนฝั่งไหนคือขาเข้าฝั่งไหนคือขาออก ตรงนี้ความหมายก็คือถนนฝั่งขาเข้าคือฝั่งที่วิ่งเข้าเมือง ส่วนถนนฝั่งขาออกคือฝั่งที่วิ่งออกนอกเมือง ผมว่าเพื่อนๆชาว HowWhy? ก็ยังสงสัยต่อว่า แล้วไอ้คำว่าเข้าเมืองเนี่ยตัวเมืองคือตรงไหน คำตอบนี้ผมก็ไม่รู้หรอกครับ บ้างก็ว่าอนุสาวรีย์ บ้างก็ว่าสยาม แต่ผมเชื่อว่าถ้าเพื่อนๆลองนึกดูจะได้คำตอบเหมือนๆกันเข้าใจตรงกันว่าฝั่งไหนของถนนเป็นขาเข้าฝั่งไหนเป็นขาออก ถ้าเพื่อนๆนึกไม่ออกก็คิดง่ายๆครับจากบ้านเพื่อนๆฝั่งถนนที่ใช้วิ่งไปสยามก็จะเป็นขาเข้า ส่วนฝั่งที่วิ่งกลับบ้านจก็จะเป็นขาออก (เหมารวมว่าบ้านเราอยู่นอกเมืองกันก็แล้วกัน -_-)

         หลังจากที่เข้าใจตรงกันว่าฝั่งไหนเป็นถนนขาเข้าฝั่งไหนเป็นถนนขาออก ทีนี้เพื่อนๆลองหยุดอ่านบทความไว้ก่อนแล้วไปเปิด Google map ดูเลยครับว่าซอยฝั่งเลขคู่เป็นขาเข้าจริงรึเปล่า และฝั่งเลขคี่เป็นขาออกจริงมั๊ย (ตรงนี้ก็มีข้อยกเว้นหน่อยนึงนะครับบางถนนคุณผู้อ่านอาจจะหาชื่อซอยไม่เจอหรือบางถนนก็ยากที่จะบอกว่าฝั่งไหนเป็นขาเข้า-ขาออกก็ไปดูเส้นอื่นเถอะครับ ^^ นอกจากนี้ก็ยังมีบางถนนเช่นถนนรัชดาที่เป็นวงแหวนรอบในของกรุงเทพ การที่ถนนเชื่อมต่อกันเป็นวงกลมรอบเมืองนั่นแสดงว่าในถนนฝั่งเดียวกันบางช่วงก็จะเป็นขาเข้าบางช่วงก็จะเป็นขาออก แบบนี้ก็อาจจะมีผิดพลาดกันบ้างก็เปลี่ยนไปดูถนนเส้นอื่นละกัน ^^)

          หลังจากที่เพื่อนๆไปหาคำตอบด้วยตัวเองมาแล้ว หรือบางคนอาจจะเชื่อผมเลยว่าจริงก็ไม่เป็นไรครับ ผมไม่หลอกเพื่อนๆชาว HowWhy? แน่นอน ทีนี้เราจะมาขุดลึกกันต่อไปว่าแล้วทำไมมันถึงเป็นเช่นนั้น? ทำไมซอยเลขคู่มันถึงเป็นฝั่งขาเข้าหละ? เป็นสิ่งที่กระทรวงคมนาคมเค้าคิดกันไว้ตอนสร้างถนนรึเปล่า เกี่ยวอะไรกับชัชชาติมั๊ย? คำตอบต้องไปหาตั้งแต่ตอนเริ่มต้นสร้างถนนครับ

          เวลาสร้างถนนนั้นเริ่มต้นเราก็จะต้องรู้ก่อนว่าถนนเส้นที่จะตัดขึ้นมาเนี่ยจะสร้างไปที่ไหน หรือจะสร้างไปเชื่อมกับถนนอะไร ผมจะลองยกตัวอย่างถนนสักเส้นที่มันยาวๆหน่อยละกัน เช่นถนนพหลโยธิน ถนนนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นทางหลวงสำหรับวิ่งจากกรุงเทพฯออกไปสู่ภาคเหนือของประเทศไทย ระหว่างสร้างถนนนั้นก็จะตัดซอยขึ้นมาด้วยพร้อมๆกัน ทีนี้การที่เราจะนับเลขซอยนั้นโดยปกติเราก็ต้องนับจากหัวถนนครับ หัวถนนก็คือต้นทาง เพราะฉะนั้นในที่นี้หัวถนนของถนนพหลโยธินก็จะเริ่มที่อนุสาวรีย์ ดังนั้นซอยหมายเลข 1 ก็จะต้องเริ่มต้นที่ใกล้ๆอนุสาวรีย์นั่นเอง (เพราะคงไม่มีใครเอาซอยเลข 1 ไปไว้ที่อยุธยา แล้วนับกลับมาหาอนุสาวรีย์ คงแปลกน่าดูจริงมั๊ยครับ)  ทีนี้พอเรารู้แล้วว่าเลขซอยจะเริ่มนับจากหัวถนน ก็มาสู่คำถามสำคัญแล้วว่าแล้วทำไมต้องนับเลขคี่กับเลขคู่แยกฝั่งกัน สาเหตุนั้นมาจาก ธรรมชาติการนับเลขของมนุษย์โดยปกติมนุษย์เราจะนับเลขจากซ้ายไปขวา เพราะฉะนั้นเราก็จะเริ่มต้นเลข 1 ที่ฝั่งซ้ายแล้วก็เลข 2 ฝั่งขวาสลับกันไปเรื่อยๆ เช่นนี้แล้วจึงทำให้ซอยเลขคู่และเลขคี่นั้นอยู่ตรงข้ามกัน ดังนั้นในตัวอย่างของถนนพหลโยธิน เราก็ต้องหันหลังให้อนุสาวรีย์แล้วนับซอยหนึ่งอยู่ด้านซ้าย ซอย 2 อยู่ด้านขวาเช่นนี้เรื่อยไปจนสุดถนน

          ถึงจุดนี้ก็ได้คำตอบกันแล้วนะครับว่าทำไมเลขซอยถึงอยู่ตรงข้ามกันระหว่างเลขคู่กับเลขคี่ แต่บางคนอาจจะยังสงสัยว่าแล้วมันไปตรงกับฝั่งขาเข้า-ขาออกได้ยังไง? นั่นก็สอดคล้องกับบทความที่ผมเขียนเกี่ยวกับสาเหตุว่าทำไมบางประเทศขับรถพวงมาลัยขวาบางประเทศขับพวงมาลัยซ้าย? จากบทความนั้นทำให้เรารู้ว่าประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่ใช้หลัก Keep left rule คือเราจะขับรถชิดซ้ายกัน เพราะฉะนั้นฝั่งซ้ายของถนนจะเป็นเส้นที่วิ่งออกจากเมืองเสมอ (ในกรณีของถนนพหลโยธินฝั่งซ้ายของถนนก็คือฝั่งที่วิ่งจากอนุสาวรีย์ไปสวนจตุจักร) และนั่นจึงตรงกับซอยที่เป็นเลขคี่นั่นเอง

          สุดท้ายนี้เราจะได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องนี้? ลองคิดดูครับว่าจะเอาไปใช้อะไรได้บ้างในชีวิตการขับรถของเรา ผมบอกได้เลยครับว่าก็ไม่มากเท่าไรถ้าคุณวิ่งในถนนเดิมๆที่คุณรู้ทางอยู่แล้ว แต่จะมีประโยชน์มากเมื่อคุณต้องวิ่งไปถนนที่ไม่คุ้นเคย เช่นไปบ้านเพื่อน ทีนี้เวลาเพื่อนของคุณบอกเลขซอยมาคุณก็พอจะเดาได้แล้วว่าบ้านเพื่อนคุณอยู่ถนนฝั่งขาเข้าหรือขาออกกันแน่ (ไม่ต้องคอยถามเพื่อนว่าอยู่ฝั่งเดียวกันกับเซ็นทรัลหรือฝั่งตรงข้าม) แล้วก็ถ้าเลขซอยต้นๆก็พอจะเดาได้ว่าอยู่ต้นถนน เท่านี้ก็ช่วยให้คุณหาบ้านของเพื่อนคุณได้เร็วขึ้น ประหยัดเวลา ประหยัดพลังงานให้ชาติ จริงมั๊ยครับ? \^_^/


สงวนสิทธิ์การนำไปทำซ้ำ อนุญาตให้เผยแพร่ได้
23 เมษายน 2557
Copyright (c) 2014. Use of such content either in part or in whole without permission is prohibited.
23 April 2014
         


1 comment:

  1. ถ้าเป็นต่างจังหวัด ก้อต้องยึดตัวเมืองของจังหวัดนั้น เป็นตัวกำหนดซอยคู่ซอยคี่ด้วยค่ะ
    ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือถนนศรีนครินทร์ช่วงอุดมสุข ถึง ซอยลาซาล (หน้ารพ.ศิครินทร์)
    ช่วงอุดมสุข ฝั่งที่จะวิ่งไปปากน้ำ ซอยเป็นเลขคี่ แต่พอเลยซอยรพ.ศิครินทร์ เข้าเขตสมุทรปราการ
    ฝั่งที่จะวิ่งไปปากน้ำ จะเป็นซอยศรีด่านที่เป็นเลขคู่ นั่นหมายความว่า ต้องยึดตัวเมืองสมุทรปราการเป็นตัวกำหนดซอยคู่ซอยคี่ ของจังหวัดค่ะ

    ReplyDelete